คิดจะปลูกกาแฟ…ต้องเข้าใจระบบ ภาษีกาแฟ

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนเครื่องดื่มยอดนิยมติดอันดับตลอดกาลคงหนีไม่พ้นกาแฟ ด้วยรสชาติ กลิ่นหอมเข้มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คอกาแฟต้องหลงใหล จึงทำให้ธุรกิจและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

และจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ราคาเมล็ดกาแฟที่เกษตรกรปลูกขายได้สูงขึ้น รวมถึงการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากกระแสของความนิยมดื่มกาแฟคั่วบด และกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นประกอบกับมีการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น

ดังนั้นหากมองในมุนของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภาคส่วนต่าง ๆ ของการผลิตกาแฟ ตลอดไปจนถึงการค้า มีหลายส่วนมากมายที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ผู้ผลิตกาแฟ ตลอดไปจนถึงผู้ค้ากาแฟ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ภาษีกาแฟ ทั้งสิ้น แล้วมีรายละเอียดอย่างไรบ้างสามารถอธิบายได้ดังนี้

เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จะต้องเสีย ภาษีกาแฟ หรือไม่

เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำเป็นต้องเสียภาษี ในกรณีการเสีย ภาษีกาแฟ สามารถอธิบายได้ 3 กรณีดังนี้   

กรณีที่ 1 กรณีเป็นเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา แล้วมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ เกษตรกรจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถคำนวณภาษีโดยการนำเงินได้มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายมี 2 วิธีด้วยกันคือ 

– เลือกหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง แต่จะต้องทำบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาสารเคมี ฯลฯ

– เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตราร้อยละ 60 แต่สามารถลดภาระการทำบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายลงได้ 

ทั้งนี้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 อีกด้วย 

กรณีที่ 2 กรณีเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรที่เป็นบุคคลธรรมดา หากผู้รับซื้อประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ทางผู้รับซื้อจะต้องไม่นำมาคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งของกรมสรรพากร ที่มีรายละเอียดดังนี้

ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นแต่ไม่รวมถึง กลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 0.75 เฉพาะผู้จ่ายเงินและสำหรับการซื้อสินค้าในกรณีดังนี้ คือ ซื้อเมล็ดกาแฟ ไม่ว่าจะคั่วแล้วหรือไม่ เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากกาแฟ

กรณีที่ 3 เป็นกรณีที่ต้องซื้อหรือนำเข้าเมล็ดกาแฟ ผลิตภัณฑ์กาแฟ รวมทั้งการซื้อวัตถุดิบอื่น เช่น ปุ๋ย วัสดุ อุปกรณ์ ห่อบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ราคาที่ซื้อมักบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว เท่ากับว่าผู้จำหน่ายเป็นผู้เสียภาษีในส่วนนี้ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องขายผลผลิต ผู้จำหน่ายที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มเวลาตั้งราคาขายอาจมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปได้ ซึ่งลูกค้าจะกลายเป็นผู้เสียภาษีนี้แทน แต่ที่สำคัญคือผู้จำหน่ายต้องออกใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐานด้วย

ผู้ผลิตกาแฟเพื่อจำหน่ายต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

หากกล่าวถึงผู้ที่จะผลิตกาแฟเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะจำหน่ายในประเทศ หรือจำหน่ายต่างประเทศ ก่อนการเริ่มต้นธุรกิจ ทางผู้ประกอบการจะต้องทำการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา จะต้องทำการขอเลขผู้เสียภาษีอากร กับกรมสรรพากร  ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนแรกเพื่อยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม การออกใบกำกับภาษี และการจัดทำรายงานภาษี เป็นต้น

2. ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่าง หากคิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้ เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวม ทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้น ไป ต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

3. ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กาแฟจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิต ภายใน 30 วันก่อนเริ่มผลิตสินค้า และยื่นแบบรายการภาษีเพื่อชำระภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์กาแฟของคุณมีส่วนผสมตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิต กำหนดคุณสามารถยื่นคำขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตนั้นได้

4. ผลิตภัณฑ์กาแฟทุกชนิดทั้งหมด คือ อาหารที่มีการบริโภคผ่านเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงต้องเกี่ยวข้องกับองค์กรซึ่งมีหน้าที่ควบคุม และรับรองมาตรฐานอาหารอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกภาษี กระทรวงการคลัง

ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมถึงผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย จะต้องศึกษาข้อมูลทางด้านภาษีกาแฟให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะกาแฟมีรายละเอียดที่แตกต่างจากสินค้าอื่นตรงที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากผู้ผลิตและจำหน่ายยังไม่มีความเข้าใจเรื่องภาษีมากนัก แนะนำให้หาสำนักงานบัญชีเข้ามาช่วยจัดการให้ เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต