ภาษีชาวนา ที่ต้องรู้!

อาชีพเกษตรกรปลูกข้าว หรือที่เรารู้จักกันในอาชีพ “ชาวนา” ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ก็เป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากสภาพอากาศ ราคาข้าวที่ผันผวน และโรคระบาดต่างๆ  

นอกจากนี้ รู้หรือไม่ว่าชาวนายังต้องแบกรับภาระภาษีอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชาวนามีรายได้น้อยลง ดังนั้น ไปทำความเข้าใจกับ ภาษีชาวนา กันว่ามีอะไรบ้าง หรือภาษีไหน ลักษณะใดได้ยกเว้นภาษีกันบ้าง

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ต้องยอมรับว่าเกษตรกรปลูกข้าว หรือชาวนาส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีการจดทะเบียนบเป็นนิติบุคคล ดังนั้น ภาษีชาวนา ที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากเป็นเกษตรกรทั่วไป เช่น เกษตรกรปลูกพืช ผัก ไม้ยืนต้น เมื่อมีเงินได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร จำเป็นต้องเสียภาษีตามมาตรา 40(8) ถือเป็นเงินได้จากธุรกิจการเกษตรที่ได้มาโดยมุ่งเน้นการค้าหรือหาผลกำไร แต่ถ้าหากเป็นเกษตรกรปลูกข้าวขาย หรือชาวนานั้น สามารถแบ่งเป็น ภาษีชาวนา ที่ต้องเสียได้ดังนี้

1.ยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นชาวนาไม่ใช่เกษตรกรอื่น สำหรับชาวนาปลูกข้าวขายเอง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวนา ตามมาตรา 42(15) เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้ยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ 

“(15) เงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าวอันเกิดจากกสิกรรมที่ตนและหรือครอบครัวได้ทำเอง” (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2504 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2505 เป็นต้นไป) อ้างอิง : https://www.rd.go.th/5937.html

โดยผู้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ได้ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาให้เรียบร้อยก่อนเท่านั้น

  2.เสียภาษีเงินได้มาตรา 40(8) ซึ่งเป็นภาษีเงินได้ที่ชาวนาต้องเสียตามกรณีดังนี้

2.1 ชาวนาที่ปลูกข้าวขายเอง แต่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นชาวนา ถึงแม้ว่าจะทำนาจริงเป็นกสิกรรมหรืองานที่ตนเองหรือครอบครัวได้ทำเองจริงก็ตาม หากไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้

2.2 หากเป็นชาวนาแต่ไปรับข้าวสารที่อื่นมาขาย ลักษณะนี้จะไม่ถือว่าเป็นชาวนา ต้องเป็นกสิกรรมหรืองานที่ตนเองหรือครอบครัวได้ทำเองเท่านั้น ถ้าไม่ได้ปลูกข้าวเองหรือไม่ได้ทำกสิกรรมเองจะต้องเสียภาษีเงินได้  

โดยยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ครั้งต่อปี ประกอบด้วย

– ภาษีครึ่งปี ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่ได้รับเงิน โดยนำเงินได้เดือนมกราคม-มิถุนายนของปีนั้น ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี 

– ภาษีสิ้นปี ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป โดยนำรายได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งปี มารวมคำนวณภาษีที่ผ่านมาผ่านแบบ ภ.ง.ด.90 และหักด้วยภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วเมื่อตอนยื่นแบบครึ่งปี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ภาษีชาวนาที่เกี่ยวข้องอีก 1 ภาษีคือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรทุกประเภท รวมถึงชาวนาได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

1.การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น พืชผล กิ่ง ใบ หน่อ หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งที่อยู่ในสภาพของสดหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งหรือเพื่อขาย

2.การขายข้าวสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว เช่น แกลบ รำ ไม่ว่าจะใส่ในบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใดก็ตาม

3.ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดย่อมที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 1,800,000 บาท

ต่อปี 

ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

นอกจากภาษีชาวนาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกษตรกรเจ้าของที่ดิน รวมถึงชาวนาผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีด้วย โดยกฎหมายกำหนดว่าเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นผู้ครอบครองทั้งที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ก็ตาม ทั้งรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีที่ดิน 

มีชื่ออยู่ในทะเบียนเอกสารสิทธิหรือปรากฏเข้าครอบครอง เจ้าของที่ดิน เช่น เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือผู้ครอบครองและผู้ถือประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เช่น เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่ใช้ที่ดินของรัฐ

แต่หากจะได้ยกเว้นภาษีที่ดินทางการเกษตรได้ คือ ถ้าที่ดินทางการเกษตรเป็นบุคคลธรรมดา ได้ใช้ที่ดินในการทำการเกษตรในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับการยกเว้นภาษีถ้าราคาประเมินที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกต่อเขตปกครองนั้น 

กล่าวคือหากชาวนาเป็นเจ้าของที่ดินที่ทำนาในนามบุคคลธรรมดา จะได้รับการยกเว้น 50 ล้านบาทแรก และเมื่อมีส่วนที่เกินจะนำมาคิดภาษี เช่น มูลค่าที่ดินที่ใช้ทำนา 60 ล้านบาท จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาท และนำเพียง 10 ล้านบาทมาคำนวณภาษีในอัตรา 0.01% เท่านั้น ดังรายละเอียดอัตราภาษีต่อไปนี้ 

อัตราภาษีธุรกิจเกษตรในส่วนที่ดินทำการเกษตรสำหรับบุคคลธรรมดา

ที่ดินมูลค่า 0 – 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01% (ล้านละ 100 บาท)

ที่ดินมูลค่า 75 – 100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03% (ล้านละ 300 บาท)

ที่ดินมูลค่า 100 – 500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05% (ล้านละ 500 บาท)

ที่ดินมูลค่า 500 – 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07% (ล้านละ 700 บาท)

ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1% (ล้านละ 1,000 บาท)

และในกรณีที่มีการทำเกษตรในนามนิติบุคคล อัตราภาษีธุรกิจเกษตรในส่วนที่ดินทำการเกษตรสำหรับนิติบุคคลคือ

0-75 ล้านบาท = 0.01% (ล้านละ 100 บาท)

มากกว่า 75-100 ล้านบาท = 0.03% (ล้านละ 300 บาท)

มากกว่า 100-500 ล้านบาท = 0.05% (ล้านละ 500 บาท)

มากกว่า 500-1,000 ล้านบาท = 0.07% (ล้านละ 700 บาท)

1,000 ล้านบาทขึ้นไป = 0.10% (ล้านละ 1,000 บาท)

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าภาษีชาวนาที่ได้ยกเว้นมีภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ หากขึ้นทะเบียนเป็นชาวนา โดยต้องทำนาจริงเป็นกสิกรรมหรืองานที่ตนเองหรือครอบครัวได้ทำเองจริง ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินที่ต้องเสียทุกปีอยู่แล้วตามประเภทการใช้ที่ดินนั่นเอง