รู้หรือไม่ ห้างหุ้นส่วน คืออะไร เหมาะกับธุรกิจแบบไหน

รู้หรือไม่ ห้างหุ้นส่วน คืออะไร เหมาะกับธุรกิจแบบไหน

การประกอบธุรกิจการค้า ผู้ประกอบการอาจดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งโดยบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการโดยลำพัง หรืออาจดำเนินการโดยร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นเป็นกลุ่มคณะก็ได้  นอกจากนี้ยังมีในรูปแบบนิติบุคคล อีกหลายประเภท ได้แก่ บริษัทจำกัด (บจก.) บริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) และ ห้างหุ้นส่วน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจได้เลือกว่าต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทไหน 

ดังนั้นการที่จะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบใดนั้น ในเบื้องต้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการด้วยกัน โดยในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน ลองศึกษาไปพร้อมๆ กันได้ดังนี้ 

ห้างหุ้นส่วนมีกี่ประเภท

รูปแบบห้างหุ้นส่วน เป็นรูปแบบขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นมา โดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำสัญญาร่วมกันลงทุนในรูปแบบของเงินสด ทรัพย์สิน หรือแรงงาน ดำเนินธุรกิจและแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน โดยสามารถแยกออกได้เป็นประเภทของห้างหุ้นส่วนเป็น 2 รูปแบบ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญ (ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล)

โดยลักษณะทั่วไปของ ห้างหุ้นส่วน คือ รูปแบบการจดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งรูปแบบนี้ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำธุรกิจร่วมกัน ผู้ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาสามารถจัดสรร และทำการตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นได้ว่า จะลงทุนด้วยเงิน ลงทุนด้านทรัพย์สิน หรือฝีมือแรงงาน และต้องทำการตกลงกันตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากการลงทุนและเมื่อตกลงกัน ทุกอย่างต้องตีราคาของสิ่งที่ลงทุนร่วมกันเป็นจำนวนเงิน 

นอกจากนี้ยังมีความความแตกต่างในรายละเอียดอยู่พอสมควร ซึ่งหากใครมีความต้องการจะจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ควรตรวจสอบลักษณะและเงื่อนไขของห้างหุ้นส่วนทั้ง 2 ประเภทว่าตรงกับธุรกิจของเราหรือไม่ด้วย

“ห้างหุ้นส่วนจำกัด” คืออะไร

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 แบบด้วยกัน คือ 

1.ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น 

2.ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน

ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากห้างหุ้นส่วนสามัญตรงที่ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนร่วมกันและแทนกันโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นมีหุ้นส่วน 2 ประเภท ประเภทแรกรับผิดไม่จำกัดจำนวน อย่างเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่หุ้นส่วนอีกประเภทหนึ่งรับผิดจำกัด คือ รับผิดตามจำนวนเงินที่ได้ลงหุ้นไว้หรือที่รับจะลงหุ้นทำนองเดียวกับผู้ถือหุ้นในบริษัท

มาทำความรู้จักเกี่ยวกับ “ห้างหุ้นส่วนสามัญ”

ห้างหุ้นส่วนสามัญ (หสม.) คือ ห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน จะต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของกิจการ โดยไม่จำกัดจำนวน และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิดำเนินกิจการในนามห้างหุ้นส่วนได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

– ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จัดอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หากผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาของห้างหุ้นส่วน กฎหมายให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิเข้าจัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้

– ห้างหุ้นส่วนสามัญแบบจดทะเบียน เรียกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (หสน.) จัดอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล จะต้องใช้คำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ประกอบหน้าชื่อห้างเสมอ โดยห้างหุ้นส่วนดังกล่าวนี้จะต้องมีการระบุชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไว้อย่างชัดเจน อาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่หุ้นโดยหุ้นส่วนผู้จัดการจะเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างหุ้นส่วน และทำธุรกรรมต่างๆ ในนามห้างหุ้นส่วนได้

โดยเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนแบบ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” มีดังนี้ ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ และต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด แต่แบ่งปันกำไรจากกิจการได้

ห้างหุ้นส่วนกับการจัดการบัญชีและภาษี

เมื่อห้างหุ้นส่วน (ทั้ง 2 แบบ) ได้จดทะเบียนแล้วจะต้องมีหน้าที่จัดทำงบการเงินประจำปี ให้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานบริหารข้อมูลธุรกิจ หรือทะเบียนพาณิชย์จังหวัดแล้วแต่กรณี ภายใน 5 เดือน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี ถึงแม้จะยังไม่เปิดกิจการก็ตาม หากไม่ยื่นจะถือเป็นความผิดและจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท โดยมีหน้าที่เหมือนกันคือ

1.ให้จัดทำบัญชีรายวัน การจัดทำบัญชีรายเดือน บัญชีแยกประเภททั่วไป บัญชีผลิตภัณฑ์ และบัญชีประเภทอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยต้องเริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

2.การปิดบัญชีครั้งแรกจะต้องอยู่ภายใน 12 เดือนนับจากวันที่เปิดบัญชี และทุกๆ 12 เดือนนับจากวันที่ปิดบัญชีครั้งสุดท้าย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ตรวจสอบบัญชีให้เปลี่ยนแปลงรอบปีบัญชีและสามารถปิดบัญชีได้ก่อนระยะเวลา 12 เดือน

3.จัดทำงบการเงิน ซึ่งประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน หมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบการเงินเปลี่ยนเทียบกับปีก่อน

4.จัดหาบริการรับตรวจสอบงบการเงิน โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่เป็นอิสระไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ

5.ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าหากห้างหุ้นส่วนมีการจด VAT ไว้ จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน แม้เดือนนั้นๆ ไม่มีรายการการค้าก็ตาม

6.ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน (แต่ถ้าหากไม่มีการหัก ณ ที่จ่าย ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น)

7.ยื่นภาษีนิติบุคคล (สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ที่ ) ทั้งแบบครึ่งปีและสิ้นปี โดยเสียอัตราภาษีสูงสุด 20%

8.ยื่นประกันสังคม เมื่อกิจการได้ขึ้นทะเบียนนายจ้าง และมีพนักงานประจำ ด้วยแบบ สปส.1-10 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน และสุดท้ายยื่นส่งงบการเงิน ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

บทสรุป ถ้าหากคุณกำลังเลือกลงทุนในประเภทธุรกิจห้างหุ้นส่วน อย่าลืมที่จะศึกษาข้อมูลรายละเอียดก่อนการลงทุนเสมอ แต่หากวิเคราะห์ดูแล้ว อาจทำให้เสียเวลา และต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเอกสารในการขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ก็มีทางเลือกที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย คือใช้บริการสำนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์รับจดทะเบียนบริษัทได้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องเดินเรื่องหลายรอบให้ปวดหัว