เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ ลืม จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม! ฟังทางนี้

เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ ลืม จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม! ฟังทางนี้

การ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าบุคคลนั้นมีการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายอยู่ตลอด ก็จะทำให้ทราบว่ารายได้ที่เข้ามาเกิน 1.8 ล้านแล้วหรือยัง ซึ่งเมื่อมีรายได้ถึง 1.8 ล้านต่อปีแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน

แล้วถ้าในกรณีผู้ประกอบการลืม จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วมารู้อีกทีพบว่ามีรายได้เกิน 1.8 ล้าน และเกิน 30 วันไปแล้ว จะไม่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเลยทำได้ไหม ใน Case นี้ถ้ากรมสรรพากรตรวจสอบพบ จะต้องเสียค่าปรับนับตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน จนถึงวันที่ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือสรรพากรตรวจพบ โดยต้องเสียเบี้ยปรับตั้งแต่ 2-20% และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) 1.5% ต่อเดือน ถ้ารู้ถึงผลเสียแบบนี้แล้ว ผู้มีรายได้ควรศึกษารายละเอียดรวมถึงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ จากบทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้ 

 รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ลืมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง

หากผู้มีรายได้ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทัน ในกรณีที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านแล้ว ควรรีบดำเนินการขอจดทะเบียนให้ถูกต้องโดยควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

1.หยุดรับเงินโอนทางบัญชีเดิมก่อน ในกรณีที่ผู้มีรายได้ยื่นภาษีแบบบุคคลธรรมดาอยู่ และกำลังจะจดบริษัทให้อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล

2.ตรวจสอบรายการเดินบัญชี (Statement) และดูว่ามีรายได้เริ่มเกินตั้งแต่วันไหน

3.ให้คำนวณรายได้ แยกในแต่ละเดือน เพื่อหายอดภาษีและค่าปรับที่ต้องยื่น

4.สุดท้ายให้เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่สรรพากร ตามพื้นที่ที่ตนเองอยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน

จากนั้นให้ผู้ประกอบการเตรียมเอกสารให้ครบ รวมถึงเงินค่าปรับให้พร้อม และไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามพื้นที่ของตนเองได้เลย 

สถานที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

1.กรณีสถานประกอบการ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ สรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรสาขาในเขตท้องที่  ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

2.กรณีสถานประกอบการ ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ สรรพากรพื้นที่อำเภอ ในเขตท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ 

3.กรณีสถานประกอบการ ที่อยู่ในความดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่น ณ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือจะยื่นผ่านกรมสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ก็ได้

เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.แบบคำขอจดทะเบียน ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ

2.ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ฉบับ 

3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจ หรือผู้ประกอบการ 1 ฉบับ

4.สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ตั้งเป็นสถานประกอบการ 1 ฉบับ

5.รูปภาพสำนักงานทั้งภายในและภายนอก อย่างน้อย 4 ภาพ จำนวน 2 ชุด

6.แผนที่ 2 ชุด

7.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์ 

8.สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ 1 ฉบับ

9.หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทน) 

10.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของสถานที่ หรือผู้ยินยอม หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่า)

11.หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามี)

กำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือบริการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบการมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ

กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ใครควรจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม บ้าง”

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำอย่างไรได้บ้าง

กรณีผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรไว้แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งได้แก่ ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อสถานประกอบการ ที่ตั้งสถานประกอบการ การเลิกกิจการ ย้ายสถานประกอบการ รับโอนกิจการ เพิ่มหรือลดสาขาของสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.09 พร้อมยื่นเอกสารประกอบการพิจารณา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้

บทลงโทษหากลืมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือลืมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังปล่อยให้เวลาล่วงเลยจนทำให้สรรพากรตรวจสอบพบ ก็จะเจอกับบทลงโทษทางกฎหมายที่ว่าด้วย การที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประมวลรัษฎากรกำหนด ซึ่งมีบทกำหนดโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โทษทางแพ่งกำหนดความรับผิดต้องชำระเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โดยเบี้ยปรับเป็นบทลงโทษกรณีผู้เสียภาษีไม่ยื่นรายการเสียภาษีหรือยื่นแล้วแต่ไม่ถูกต้อง ส่วนเงินเพิ่มเป็นบทลงโทษกรณีผู้เสียภาษีผิดนัดไม่ชำระภาษีตามเวลาที่กำหนด สำหรับโทษทางอาญากำหนดความรับผิดต้องชำระค่าปรับหรือจำคุกแล้วแต่กรณี เป็นบทลงโทษกรณีผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือนำส่งภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด 

บทสรุป การลืมยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมีขั้นตอนรวมถึงวิธีการต่างๆ จากที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าปรับที่จะเกิดขึ้น โดยคำนวณรายได้ เพื่อหายอดภาษีและค่าปรับที่ต้องยื่น 

ถ้าผู้ประกอบการรายใดยังมีข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบแบบชัดๆ ตรงประเด็น ก็สามารถติดต่อปรึกษาได้ที่สำนักงานบัญชีที่น่าเชื่อถือให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้