การวางแผน ภาษีบริษัท อย่างชาญฉลาดมีอะไรบ้าง

การวางแผน ภาษีบริษัท อย่างชาญฉลาดมีอะไรบ้าง

การทำธุรกิจในปัจจุบันทุกองค์กรต้องรับมือกับ ภาษีบริษัท ซึ่งเมื่อพูดถึง ภาษีบริษัท สิ่งที่ต้องพึงระวังคือการเลือกใช้ชนิดของภาษีให้เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเชื่อว่ามีหลายๆ บริษัทที่เพิ่งเปิดกิจการ หรือดำเนินกิจการมาสักระยะและเริ่มมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาจมีความกังวลใจว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ และต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ซึ่ง ภาษีบริษัท ที่กิจการต้องรู้จักและทำความเข้าใจเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาทีหลังคือ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์

สำหรับบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับ ภาษีบริษัท เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการประกอบกิจการ และการยื่นภาษีแก่กรมสรรพากร สามารถติดตามได้จากข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้

ภาษีเงินได้

เป็นภาษีเงินได้ที่ทางกรมสรรพากรประเมินและจัดเก็บ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท อธิบายได้ดังนี้  

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีสำหรับกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา สามารถคำนวณภาษีเงินได้เพื่อนำไปเสียภาษีเบื้องต้นโดยการนำเงินได้มาหักออกกับค่าใช้จ่าย ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายมี 2 วิธีด้วยกันคือ 

– แบบเหมา 60% (เป็นการเลือกหักต้นทุน) วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบเพื่อใช้ยื่นภาษี เพราะไม่ต้องพิสูจน์รายได้ ซึ่งเหมาะกับกิจการที่มีต้นทุนน้อยกว่า 60% และมีกำไรมากถึง 40%

– แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะเหมาะกับกิจการที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% โดยจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย และกำไรทุกเดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณยื่นภาษี และต้องเก็บเอกสารทุกใบที่มีข้อมูลระบุชัดเจน ถูกต้องตามที่กรมสรรพากรกำหนดให้ครบ จากนั้นนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตร คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อกิจการขยายใหญ่ขึ้นอยากจัดตั้งเป็นบริษัท และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ภาษีบริษัทที่กิจการต้องรู้จักและทำความเข้าใจ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีบริษัทที่คำนวณจากกำไรสุทธิที่นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากเข้าเกณฑ์กำหนด ซึ่งวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ จากนั้นนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 20%

ทั้งนี้ กิจการมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล 2 รอบ ซึ่งประกอบด้วย ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 ลักษณะการเสียภาษีต่างกัน คือ ภ.ง.ด.51 สำหรับครึ่งปีแรก โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

ภาษีบริษัทอันดับต่อมาที่กิจการควรรู้คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เมื่อกิจการมีรายได้ในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ที่กรมสรรพากร ซึ่งภาษีบริษัทรูปแบบนี้ ต้องมีการทำรายงานรายการภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือ และวัตถุดิบ พร้อมส่งแบบ ภ.พ.30 ยื่นรายงานแก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีการซื้อขายก็ตาม

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีบริษัทประเภทที่จัดเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่กฎมายกำหนดไว้พิเศษ เช่น

-การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

-การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

-การรับประกันชีวิต

-โรงรับจำนำ

-ธนาคารพาณิชย์

-ธุรกิจค้าขายอสังหาริมทรัพย์

โดยกิจการต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไปที่เกิดรายการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และในกรณีทั่วไปของธุรกิจ เมื่อมีการขายอสังหาริมทรัพย์หรือให้กู้ยืมเงินจะเสียภาษีในอัตรา 3.3% (รวมอัตราภาษีท้องถิ่น)

ด้วยเหตุนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะจึงเป็นภาษีบริษัทของธุรกิจในกลุ่มที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือรูปแบบนิติบุคคล ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งสิ้น

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ การเสียภาษีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้จ่ายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องหักไว้ก่อนจ่ายเงิน ให้กับผู้รับทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จากนั้นนำเงินที่หักไว้ส่งให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน โดยอัตราการหักภาษีแตกต่างกันตามประเภทเงินที่ต้องจ่ายดังนี้

-ค่าจ้าง และเงินเดือน ต่ำสุด 0% (ตามอัตราก้าวหน้า ภาษีบุคคลธรรมดา)

-จ้างทำงานหรือบริการ ต่ำสุด 0% (ตามอัตราก้าวหน้า ภาษีบุคคลธรรมดา)

-จ้างรับเหมา ทำของ 3%

-จ้างบริการวิชาชีพอิสระ 3% 

-ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5% 

-ค่าโฆษณา 2% 

-ค่าขนส่ง 1% 

ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้รับเงินจากผู้จ่ายที่มีการจดทะเบียนบริษัท จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคน ถึงแม้เจ้าตัวจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือจดทะเบียนบริษัทเสียภาษีแบบนิติบุคคลก็ตาม

อากรแสตมป์

อากรแสตมป์เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง ที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน กรมธรรม์ประกันภัย ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท ค้ำประกัน จำนำ เป็นต้น

          ผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้วิธีเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์แบบปกติได้ โดยให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขาใกล้บ้าน พร้อมยื่นแบบคำขอ อ.ส.4 เพื่อชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

บทสรุป ภาษีบริษัทเป็นเรื่องที่ทุกกิจการต้องจัดการอย่างมืออาชีพ ซึ่งสามารถทำได้โดยศึกษาข้อมูลภาษี มีการอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ และการใช้เทคโนโลยีในการจัดการภาษีเข้ามาช่วย หรือจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีมาตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กิจการของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น