เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรให้ถูกต้อง

ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีไม่มากนัก ดังนั้นการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป และแนะแนวทางการวางแผนการเสียภาษีเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเตรียมข้อมูลทุกอย่างให้พร้อม ครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อเสียภาษีได้อย่างประหยัดมากที่สุด และถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 

ดังนั้น วันนี้จะมานำเสนอเรื่องการเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรให้ถูกต้อง แบบเข้าใจง่าย และมีประสิทธิผลดังนี้

ลักษณะรายได้ประเภทต่างๆ 

ผู้มีเงินได้จะมีกลุ่มอาชีพที่ไม่เหมือนกัน รายได้ที่เข้ามาก็แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องแยกก่อนว่าแต่ละบุคคล แต่ละอาชีพจัดอยู่ในประเภทของเงินได้แบบใด เพื่อจะได้เลือกถูกว่าสามารถนำอะไรมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลบรายได้ได้บ้าง อธิบายได้ดังนี้

1.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บําเหน็จ บํานาญ ค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง เป็นต้น

2.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ได้แก่ ค่าจ้างทั่วไป เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เป็นต้น 

3.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ ค่ากู๊ดวิลล์และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 

4.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร 

5.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ได้แก่ ค่าเช่า 

6.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ได้แก่ ค่าวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้  

7.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 ได้แก่ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ 

8.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินอื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก เช่นรายได้จากการขายของออนไลน์ 

การนำมาหักค่าใช้จ่าย

1.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

2.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (3) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็น วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) ไม่ให้หักค่าใช้จ่าย

4.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ 

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็น 

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา ดังนี้

** บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ร้อยละ 30 

** ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 20 

** ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 15 

** ยานพาหนะ ร้อยละ 30 

** ทรัพย์สินอย่างอื่น ร้อยละ 10 

5.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ 

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็น 

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา ดังนี้

**การประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 60 

**วิชาชีพอิสระอื่น นอกจากการประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 30 

6.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (7) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็น วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา ร้อยละ 60

7.เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ในอัตราตามตารางอัตราการหักค่าใช้จ่ายเฉพาะกิจการ 43 ปะเภท

ค่าลดหย่อน

ค่าลดหย่อน คือ สิทธิประโยชน์ที่เราสามารถนำมาช่วยลดค่าภาษีที่เราต้องจ่ายได้ เมื่อทำตามเกณฑ์ที่กำหนด จะช่วยวางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ ซึ่งมีรายการหักลดหย่อนภาษีต่างๆ ดังนี้

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ใช้เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานสำหรับทุกคนที่มีรายได้

2. คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 60,000 บาท คู่สมรสที่จดทะเบียน หากไม่มีรายได้จะสามารถลดหย่อนได้เพิ่มอีก 60,000 บาท

3. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง หรือสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท หากมีบุตรตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะเพิ่มค่าลดหย่อนเป็นคนละ 60,000 บาท

5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา (คนละ) 30,000 บาท สามารถใช้ลดหย่อนได้หากบิดามารดาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท และอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีพี่น้องหลายคน จะใช้สิทธิ์ได้แค่คนเดียว ซึ่งอาจสลับกับพี่น้องคนละปีก็ได้

6. อุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาท หากมีการดูแลคนพิการสามารถนำมาลดหย่อนได้  60,000 บาท/คน

7. เงินสมทบประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงตามปีภาษีนั้นๆ

8. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต 100,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเองแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

9. ประกันสุขภาพตนเอง 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

10. ประกันสุขภาพบิดา-มารดา 15,000 บาท

11. ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

12. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

13. บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

14. บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

15. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 100,000 บาท

กำหนดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องจ่าย 2 รอบด้วยกัน คือ  

– แบบ ภ.ง.ด.90 (สำหรับมาตรา 40(1)-(8)) ผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ของปีภาษี สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป 

– แบบ ภ.ง.ด.94 (สำหรับมาตรา 40(5)–(8)) ผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่มีเงินได้

การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสูตรการคิด คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบอัตราภาษีได้จากด้านล่างนี้ 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได ดังนี้

รายได้สุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น

รายได้สุทธิ 150,001 – 300,000 อัตราภาษี 5%

รายได้สุทธิ 300,001 – 500,000 อัตราภาษี 10%

รายได้สุทธิ 500,001 – 750,000 อัตราภาษี 15%

รายได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 อัตราภาษี 20%

รายได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 อัตราภาษี 25%

รายได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 อัตราภาษี 30%

รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

หมายเหตุ : เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ยังคงได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551

บทสรุป จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ได้มีความยุ่งยากอย่างที่คิด หากมีข้อมูล เช่น รู้ถึงที่มาของรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ก็สามารถนำมาคำนวณและยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง 

แต่หากเจ้าของกิจการในนามบุคคลธรรมดามีรายได้ค่อนข้างสูง อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียสูงกว่า 20% แนะนำให้เปลี่ยนมาจดบริษัทเป็นนิติบุคคล เพราะคำนวณภาษีจากกำไรแทนการคำนวณภาษีจากรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง