ใครควรจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม บ้าง

การจัดเก็บภาษีอากรของประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐ นอกจากนี้ภาษีอากรยังเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการกระจายรายได้ ส่งเสริมความเจริญเติบโตธุรกิจการค้า รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ช่วยควบคุมการบริโภคของประชาชน อย่างเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ใช้ในประเทศไทยก็เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มแบบการบริโภค ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร 

  ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการส่งออกอยู่ในอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในการบังคับของภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือต่อรอบระยะเวลาบัญชี ก็จะต้องมีการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 

โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แต่ถ้าหากมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 1.8 ล้านบาทพอดี ยังถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม และหลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อขายสินค้าหรือบริการจะต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อที่จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า หรือการบริการพร้อมทั้งให้ใบกำกับภาษีแก่ผู้ซื้อสินค้า 

และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ให้กรมสรรพากรทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีใครบ้าง 

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือบุคคลดังต่อไปนี้ 

1.ผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ นิติบุคคล ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจ และประกอบกิจการในราชอาณาจักร

2.ผู้ประกอบการ หรือบุคคลอื่น ซึ่งนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าเพื่อการใดๆ และให้หมายรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้า หรือที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากร โดยมิใช่เพื่อส่งอออก 

วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม   

เมื่อถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถขอจดทะเบียนได้ที่กรมสรรพากรทุกพื้นที่ (เขต/อำเภอ) หรือตามพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือจดทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร โดยเตรียมเอกสารสำหรับขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

  • แบบคำขอจดทะเบียน ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ
  • ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ฉบับ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจ หรือผู้ประกอบการ 1 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ตั้งเป็นสถานประกอบการ 1 ฉบับ
  • รูปภาพสำนักงานทั้งภายในและภายนอก อย่างน้อย 4 ภาพ จำนวน 2 ชุด
  • แผนที่สำนักงาน 2 ชุด
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์ / สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ / ภาพถ่ายหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล 1 ฉบับ
  • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) กรณีให้บุคคลอื่นยื่นจดทะเบียนแทนผิมีอำนาจของกิจการ 1 ฉบับ
  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนของเจ้าของสถานที่ 1 ฉบับ (กรณีผู้มีอำนาจกิจการไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
  • หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ 1 ฉบับ (กรณีผู้มีอำนาจกิจการไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
  • สัญญาเช่า 1 ฉบับ (กรณีเช่าสถานที่ตั้งสำนักงาน)

ดูขั้นตอนการจดทะเบียนภาษี คลิกที่นี้

https://p2mb.com/%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b2-%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a2%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9/#section4

หลักการทำงานและประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

หลักการทำงานของภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังจด VAT คือ กิจการมีภาระหน้าที่ในการบวก 7% จากราคาสินค้าที่ขายหรือราคาของบริการ และจะต้องออกใบกำกับภาษี  ซึ่งใบกำกับภาษีนี้จะเกิดเป็นภาษีซื้อและภาษีขายขึ้น ดังนี้

ภาษีขาย เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ เมื่อขายของหรือการรับบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะมีหน้าที่เสียภาษี

ภาษีซื้อ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้จ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตน ภาษีซื้อที่จะนำมาหักได้นี้คลุมไปถึงภาษีซื้อของสินค้าประเภททุนด้วย

โดยหลักการทำงานของภาษีซื้อและภาษีขายเพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษี ประกอบด้วย

ภาษีซื้อ มากกว่า ภาษีขาย = ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษี ผู้ประกอบการจะขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสด หรือนำเครดิตภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปได้

ภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ = ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษี ผู้ประกอบการจะขอคืนภาษีซื้อ
เป็นเงินสดหรือนำเครดิตภาษี ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในเดือนถัดไปได้

การแสดงรายละเอียดการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งยอดภาษีซื้อและภาษีขาย ในรูปแบบของ ภ.พ.30 จะต้องเป็นภาษีที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมีสิทธิในการนำมาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้นในแต่ละเดือนผู้ประกอบการจะต้องนำภาษีขายและภาษีซื้อมาตรวจสอบว่าแบบไหนมีมากกว่ากัน ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย อย่างเช่นเดือนนั้นซื้อสินค้ามาเยอะ แต่ขายได้น้อย กิจการสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวขอคืนจากกรมรรพากรได้ หรือที่นิยมกันก็จะยกเครดิตภาษีซื้อไปใช้ในเดือนถัดไป ซึ่งก็จะง่ายกับทางกิจการมากกว่าเพราะในกรณีที่กิจการขอภาษีคืน กรมสรรพากรมีโอกาสตรวจเอกสารย้อนหลังได้ถึง 3 ปีเลยทีเดียว ถ้าเกิดไม่แน่ใจในข้อมูลบัญชีและภาษีควรจ้างผู้สอบบัญชีเข้ามาช่วยตรวจสอบให้อีกทางจะดีกว่า

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำอย่างไรได้บ้าง

กรณีผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรไว้แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งได้แก่ ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อสถานประกอบการ ที่ตั้งสถานประกอบการ การเลิกกิจการ ย้ายสถานประกอบการ รับโอนกิจการ เพิ่มหรือลดสาขาของสถานประกอบการ 

ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.09 พร้อมยื่นเอกสารประกอบการพิจารณา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้

บทสรุป จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ประกอบการรายใดที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ควรต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากทำธุรกิจที่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้จดทะเบียนจะมีความผิดตามกฎหมายกำหนด